หุ้น IPO คืออะไร แล้วจอง หุ้น IPO ยัง ไง?

มาทำความเข้าใจคำศัพท์สำคัญของหุ้น IPO กันก่อน

“บริษัท ABC เปิดจองหุ้น IPO ตั้งแต่วันที่ 1-31 มกราคม มาก่อนได้ก่อน!” “เปิดจองหุ้น OR” “หุ้นเงินติดล้อ” “หุ้น IPO วันนี้” พวกเราคงจะเคยเห็นพาดหัวข่าวทำนองนี้มามากมายในข่าวหุ้นตามหน้าหนังสือพิมพ์ นิตยสาร หรือเว็บข่าวต่าง ๆ เราสงสัยกันบ้างไหมว่าทำไมต้องไปแห่กันจองหุ้น IPO กันอย่างถล่มทลาย บางครั้งนักลงทุนก็ไปแก่งแย่งกันซื้อจนแถวยาวล้นธนาคารเต็มไปหมด บทความนี้เราจะพาไปรู้จักหุ้น IPO กันอย่างเจาะลึก

หุ้น IPO คืออะไร?

1. หุ้น IPO หรือ Initial Public Offering เป็นการขายหุ้นใหม่ ที่ไม่เคยมีการเสนอขายมาก่อน เพื่อระดมทุนไปขยายกิจการ

2. หุ้น PO หรือ Public Offering เป็นการเสนอขายหุ้นที่มีอยู่แล้วในตลาดหลักทรัพย์เพื่อระดมทุนเพิ่มเติม 

สำหรับ หุ้น IPO คือ หุ้นที่มีการเสนอขายหุ้นสามัญเพื่อระดมทุนให้แก่กิจการต่อประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก โดยที่บริษัทไม่ต้องไปกู้ยืมเงินจากธนาคาร แต่อาศัยว่ากระจายการถือครองหุ้นให้ประชาชนทั่วไปได้มาร่วมลงทุน และนักลงทุนจะได้หุ้นของบริษัทเป็นสิ่งตอบแทน การออกขายหุ้น IPO จะทำให้บริษัทเปลี่ยนสถานะจากบริษัทเอกชน (Private Company) เป็นบริษัทมหาชน (Public Company) และบริษัทสามารถนำหุ้นของตนออกเสนอขายได้ผ่านบริษัทหลักทรัพย์ที่รับเป็นผู้จัดจำหน่ายหลักทรัพย์หรือที่เรียกกันว่า Underwriters

ทำไมบริษัทถึงต้องออกหุ้น IPO?

1.เพิ่มทุนให้ธุรกิจ

การเพิ่มทุนจึงเป็นวัตถุประสงค์หลักและสำคัญที่สุดในการเสนอขายหุ้น IPO เมื่อบริษัทต้องการเงินทุนสำหรับธุรกิจใหม่หรือขยายธุรกิจที่มีอยู่ แหล่งเงินทุนหลักคือเงินกู้จากธนาคาร อย่างไรก็ตามหลังจากระดมทุนจากธนาคารในรูปของเงินกู้แล้ว ก็จะต้องจ่ายดอกเบี้ยให้กับธนาคาร ส่วนการเปิดขายหุ้น IPO จะระดมทุนจากประชาชน และไม่มีข้อผูกมัดสำหรับการจ่ายดอกเบี้ยคงที่ให้กับผู้ถือหุ้นของบริษัท กำไรจะถูกแบ่งระหว่างผู้ถือหุ้นตามสัดส่วนของจำนวนหุ้นที่ตนถืออยู่ โดยมี 2 ​​วิธีที่ บริษัทจะแบ่งปันผลกำไรให้ผู้ถือหุ้นคือ

  • การจ่ายเงินปันผล
  • การเพิ่มค่าของเงินทุน (การเพิ่มขึ้นของราคาหุ้นเนื่องจากผู้ลงทุนเล็งเห็นในศักยภาพในการเติบโตในอนาคตของบริษัท)

2. เพิ่มสภาพคล่องให้กับนักลงทุนภาคเอกชน

นักลงทุนสามารถขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ได้ทันทีอย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น กรณีที่นักลงทุนเป็นบุคคลธรรมดาก็จะได้รับยกเว้นไม่ต้องนำกำไรจากการขายมาคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหากเป็นการขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์

3. เพิ่มความเป็นมืออาชีพโดยการปรับเปลี่ยนจากธุรกิจครอบครัวมาสู่ธุรกิจการบริหารงานแบบมืออาชีพ

กรณีที่บริษัทเป็นธุรกิจครอบครัวก็สามารถเปลี่ยนจากการบริหารงานครอบครัวมาสู่การบริหารงานแบบมืออาชีพ มีระบบระเบียบ การตรวจสอบที่โปร่งใสมากขึ้น รวมถึงสามารถสร้างความมั่นคง และการสืบทอดธุรกิจในระยะยาวได้อย่างยั่งยืนมากยิ่งขึ้น

4. สร้างภาพลักษณ์ของแบรนด์และองค์กรให้ดียิ่งขึ้น

บริษัทสามารถนำเสนอแบรนด์และการรับรู้ถึงผลิตภัณฑ์และบริการของบริษัท ได้ดียิ่งขึ้นจากการออกหุ้น IPO ซึ่งสามารถสร้างภาพลักษณ์และชื่อเสียงของบริษัทให้ประชาชนและสื่อจับตามองได้

ประเภทของหุ้น IPO

การเสนอขายหุ้น IPO มีอยู่ 2 ประเภท คือ

1.การเสนอขายหุ้น IPO แบบราคาคงที่ (Fixed Price Offering) ผู้ที่มีส่วนร่วมในการกำหนดราคาหุ้น IPO มี 3 ฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ผู้จัดการการจัดจำหน่ายหลักทรัพย์ (Lead Underwriter) ที่ปรึกษาทางการเงิน (Financial Advisor หรือ FA) และบริษัทผู้ออกหลักทรัพย์ (Issuer) จะร่วมกันพิจารณากำหนดราคา IPO ที่เหมาะสมที่จะเสนอขายให้กับนักลงทุนซึ่งเป็นราคาคงที่ที่เสนอขายหุ้นให้กับนักลงทุนหรือที่เรียกว่า Fixed Price ผู้ลงทุนทุกคนจะได้รู้ราคาหุ้นก่อนที่จะเริ่มซื้อขายหุ้น IPO มักใช้กับกรณีที่กรณีที่ผู้จัดการการจัดจำหน่ายหลักทรัพย์ประเมินแล้วว่า อาจไม่มีนักลงทุนสถาบันให้ความสนใจ

2.การเสนอขายขายหุ้น IPO แบบทำการสำรวจความต้องการซื้อหลักทรัพย์ (Book Building Offering) เป็นการนำกลไกตลาด (Market Mechanism) ที่มี Demand และ Supply เข้ามาช่วยในการกำหนดช่วงราคาเสนอขายหุ้น ผู้จัดการการจัดจำหน่ายหลักทรัพย์ ที่ปรึกษาทางการเงิน และบริษัทผู้ออกหลักทรัพย์ จะร่วมกันกำหนดช่วงราคา IPO (IPO Price Range) ที่จะเสนอขายต่อนักลงทุนสถาบัน เช่น กำหนดช่วงราคา 7.00 – 7.50 บาท โดยถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้การตั้งราคาหุ้น IPO มีความเหมาะสมเพื่อดูว่าราคาใดอยู่ในระดับที่นักลงทุนสถาบันสนใจซื้อ มักใช้กับกรณีที่มีการเสนอขายให้กับนักลงทุนประเภทสถาบัน

ขั้นตอนในการเสนอขายหุ้น IPO

1.นำเสนอข้อเสนอและการประเมินมูลค่า (Proposals)

ผู้จัดการการจัดจำหน่ายหลักทรัพย์ (Lead Underwriter) หลาย ๆ แห่งจะนำเสนอข้อเสนอและการประเมินมูลค่าต่อบริษัทที่จะขายหุ้น IPO รวมทั้งหารือเกี่ยวกับบริการของตน โดยเลือกประเภทหลักทรัพย์ที่ดีที่สุดที่จะออกเสนอขาย ราคาเสนอขาย จำนวนหุ้น และกรอบเวลาโดยประมาณสำหรับการเสนอขายในตลาดหลักทรัพย์

2.การรับประกันการจำหน่ายหลักทรัพย์ (Underwriter)

บริษัทที่จะขายหุ้น IPO เลือกผู้จัดการการจัดจำหน่ายหลักทรัพย์ และตกลงอย่างเป็นทางการที่จะรับประกันการจัดจำหน่ายผ่านข้อตกลงที่ได้เจรจากัน

3.จัดตั้งทีม IPO (Team)

จัดตั้งทีม IPO ซึ่งประกอบด้วยผู้จัดการการจัดจำหน่าย ผู้จัดการการจัดจำหน่ายหลักทรัพย์ (Lead Underwriter) ที่ปรึกษาทางการเงิน (Financial Advisor หรือ FA) บริษัทผู้ออกหลักทรัพย์ (Issuer) ทนายความ ผู้สอบบัญชีรับอนุญาต (CPA) และผู้เชี่ยวชาญของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (SEC)

4.จัดเตรียมเอกสารประกอบการขายหุ้น IPO (Documentation)

รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับบริษัทเพื่อจัดทำเอกสาร IPO ที่จำเป็น เช่น คำขออนุญาตเสนอขายหลักทรัพย์ แบบแสดงรายการข้อมูล ร่างหนังสือชี้ชวน เป็นต้น เพื่อเตรียมยื่นต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์

5.การตลาด (Marketing)

ผู้จัดการการจัดจำหน่ายหลักทรัพย์และผู้บริหารต้องร่วมกันทำการตลาดในการออกหุ้นเพื่อประเมินความต้องการของนักลงทุนและกำหนดราคาเสนอขายขั้นสุดท้าย ซึ่งอาจรวมถึงการเปลี่ยนแปลงราคา IPO หรือวันที่ออกตามที่เห็นสมควร

ในขั้นตอนนี้ทางบริษัท จะทำการโฆษณาและประกาศเกี่ยวกับการ IPO ของบริษัทอย่างหนัก ตัวอย่างเช่น โฆษณาผ่านช่องทางโซเชียลมิเดียต่าง ๆ ไปจนถึงป้ายโฆษณาบน BTS กันเลยทีเดียว

6. คณะกรรมการและกระบวนการ (Board & Processes)

จัดตั้งคณะกรรมการและตรวจสอบกระบวนการในการรายงานข้อมูลทางการเงินและการบัญชีที่ตรวจสอบได้ทุกๆ ไตรมาส

7.ออกหุ้น (Shares Issued)

ในส่วนของขั้นตอนสุดท้าย เมื่อสรุปราคา IPO ได้เรียบร้อยแล้ว ทางบริษัทจะประสานกับผู้จัดจำหน่ายหลักทรัพย์เกี่ยวกับจำนวนหุ้นที่จัดสรรให้กับนักลงทุนต่อไป

จากนั้นบริษัทออกหุ้นในวันที่เสนอขายหุ้น ทุนจากการออกหุ้นครั้งแรกให้แก่ผู้ถือหุ้นจะได้รับเป็นเงินสดและบันทึกเป็นส่วนของผู้ถือหุ้นในงบดุล ต่อมามูลค่าหุ้นในงบดุลจะขึ้นอยู่กับการประเมินมูลค่าหุ้นของบริษัทต่อหุ้นอย่างครอบคลุม

8.ทบทวนหลังการออกหุ้น IPO (Post IPO )

อาจมีการจัดทำเอกสารเพิ่มเติมหลังการเสนอขายหุ้น IPO ผู้จัดการการจัดจำหน่ายหลักทรัพย์อาจกำหนดให้มีกรอบเวลาในการซื้อหุ้นเพิ่มเติมหลังจากวันที่เสนอขายหุ้นแก่ประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO)

what is IPO

ข้อดีและข้อเสียของการลงทุนในหุ้น IPO

การลงทุนในหุ้น IPO มีข้อดีดังนี้

1. เริ่มลงทุนก่อน อาจได้กำไรที่สูงกว่า

ด้วยการลงทุนใน IPO เราสามารถเข้าสู่ฐานล่างของราคาหุ้นในบริษัทที่มีศักยภาพในการเติบโตสูง การเสนอขายหุ้นอาจเป็นหน้าต่างของเราในการทำกำไรอย่างรวดเร็วในระยะเวลาอันสั้น นอกจากนี้ยังอาจช่วยให้ความมั่งคั่งของเราเติบโตในระยะยาว

2. บรรลุเป้าหมายระยะยาว

การลงทุน IPO เป็นการลงทุนในตราสารทุน จึงมีศักยภาพที่จะสร้างผลตอบแทนมหาศาลในระยะยาว และสามารถช่วยให้เราบรรลุเป้าหมายทางการเงินในระยะยาว เช่น การเกษียณอายุหรือการซื้อบ้านได้

3. มีความชัดเจนในราคาหุ้น

ราคาต่อหลักทรัพย์ที่ออกระบุไว้อย่างชัดเจนในเอกสารคำสั่งซื้อ IPO ดังนั้นเราจึงสามารถเข้าถึงราคาเดียวกันกับนักลงทุนรายใหญ่ในตลาด แต่ต่อไปหลังการเสนอขายหุ้น IPO จบลง ราคาหุ้นหลัง IPO จะขึ้นอยู่กับการเปลี่ยนแปลงของอัตราตลาด

4. ซื้อที่ราคาถูก แต่อาจได้เงินก้อนใหญ่เหมือนตกถังข้าวสาร

ราคา IPO มักจะเป็นราคาที่ถูกที่สุด หากเราลงทุนในบริษัทขนาดเล็กที่มีศักยภาพในการเติบโตอย่างยิ่งใหญ่ หากเราพลาดโอกาสในการขายหุ้น IPO การลงทุนอาจมีแนวโน้มว่าจะเป็นไปได้ยากเพราะราคาหุ้นอาจพุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในทันที

การลงทุนในหุ้น IPO มีข้อเสียดังนี้

1. มีความเสี่ยงที่ราคาจะตกลงจากราคา IPO อย่างต่อเนื่อง

หลังหมดความตื่นเต้นในการการลงทุนใน IPO ครั้งแรกแล้ว ราคาของหุ้นอาจจะตกลงอย่างต่อเนื่องทำให้ไม่สามารถทำกำไรได้ ตัวอย่างเช่น IPO ของ Facebook เป็นกรณีที่น่าสนใจ ในปี 2555 Facebook ประกาศการเสนอขายหุ้น IPO ด้วยความเอิกเกริกอย่างมาก ราคาพุ่งขึ้นอย่างมากทันทีหลังจากตลาดเปิดครั้งแรก หุ้นซื้อขายเหนือราคา IPO เมื่อปิดในวันแรก และมูลค่าหุ้นตกลงถึง 9 วันจาก 13 วันต่อมาจากวันเปิดตัว IPO  ดังนั้นอาจเป็นการดีที่จะรอดูเทรนตลาดก่อนค่อยช้อนซื้อหุ้นที่ราคาถูกกว่าราคา IPO ในภายหลัง

2. IPO ที่มีพื้นฐานดีมักถูกขายให้ผู้ลงทุนสถาบันรายใหญ่จนหมดก่อนที่มาถึงผู้ซื้อรายย่อย

การลงทุน IPO ที่มีพื้นฐานดีมักถูกขายให้ผู้ลงทุนสถาบันรายใหญ่จนหมดก่อนที่มาถึงผู้ซื้อรายย่อย การเสนอขายหุ้นแทบไม่เคยเกิดขึ้นกับนักลงทุนรายย่อยโดยตรง หากมีเหลือมาถึงก็อาจหมายถึงว่านักลงทุนสถาบันในขั้นต้นได้ผ่านโอกาสนี้ไป ถือเป็นเครื่องบ่งชี้สุขภาพทางการเงินและโอกาสของบริษัทที่ขายหุ้น IPO ว่าอาจจะไม่ได้ดีนักจนเหลือตกมาให้ผู้ซื้อรายย่อยอย่างเราได้ซื้อในขั้นสุดท้าย

3. เหตุผลในการระดมทุนที่แท้จริงอาจจะถูกปิดบัง

หนังสือชี้ชวนสำหรับการเสนอขายหุ้น IPO จะกล่าวถึงสาเหตุที่บริษัทระดมทุน เราควรเลือกลงทุนในบริษัทที่ต้องการระดมทุนไปขยายกิจการ มากกว่าบริษัทที่ต้องการระดมทุนไปชำระหนี้หรือซื้อหุ้นจากเจ้าของ ทั้งนี้เหตุผลในการระดมทุนที่แท้จริงอาจจะถูกปิดบังด้วยหนังสือชี้ชวนก็เป็นได้ ทุกอย่างย่อมต้องใช้วิจารณญาณในการพิจารณางบการเงิน รวมถึงเหตุและผลประกอบกันทั้งสิ้น

ลักษณะของหุ้น IPO

หุ้น IPO เป็นหุ้นใหม่ที่เพิ่งจะมีการซื้อขายในตลาด ที่มีความแตกต่างเมื่อเทียบกับหุ้นโดยทั่วไป คือ เป็นหุ้นยังไม่เคยซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์มาก่อน เราจึงไม่รู้ราคาตลาดที่แน่นอน ไม่มีราคาสูงสุด ต่ำสุด แนวต้าน–แนวรับทางเทคนิค ทำให้ราคาหุ้นสามารถวิ่งขึ้นไปได้เรื่อย ๆ หรือในทางตรงข้ามหุ้นอาจจะมีราคาตกต่ำลงเรื่อย ๆ ได้เป็นระยะเวลานาน จนกระทั่งหุ้นตัวนี้เป็นที่รู้จัก มีการเรียนรู้พื้นฐานของบริษัทและเปรียบเทียบกับหุ้นตัวอื่น ๆ ในกลุ่มธุรกิจเดียวกัน จากนั้นราคาจึงจะเริ่มปรับตัวไปสูงขึ้น ๆ

ดังนั้นหุ้นใหม่ที่เพิ่งเข้าตลาดอย่างหุ้น IPO จึงเป็นที่นิยมของนักเก็งกำไร ด้วยความคาดหวังว่าความต้องการในตลาดจะสามารถดันราคาให้ดีดตัวสูงขึ้นได้เป็นอย่างมาก

วิธีหาข้อมูลหุ้น IPO

นักลงทุนสามารถขอดูหนังสือชี้ชวนการเสนอขายหลักทรัพย์ครั้งแรกต่อประชาชนของหุ้น IPO ก่อนซื้อ โดยหนังสือชี้ชวนจัดทำขึ้นเพื่อเปิดเผยข้อมูลทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับบริษัทให้นักลงทุนทราบทุกครั้งที่มีการเสนอขายหุ้นเป็นครั้งแรก

นักลงทุนควรใช้เวลาศึกษาข้อมูลอย่างละเอียดถี่ถ้วน เพื่อช่วยให้สามารถตัดสินใจซื้อหุ้น IPO ที่เหมาะสมกับตัวเองได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ซึ่งภายในจะมีข้อมูลสำคัญเพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจ ดังนี้

1. ข้อมูลสรุป ซึ่งจะสรุปรายละเอียดสำคัญของบริษัทที่เกี่ยวข้องกับการเสนอขายหุ้น โดยมีเนื้อหาที่กระชับ อ่านง่าย และระบุเฉพาะข้อมูลหลักที่เป็นประโยชน์ต่อการตัดสินใจลงทุน เพื่อให้เข้าใจภาพรวมทั้งหมด

2. ลักษณะอุตสาหกรรมและลักษณะการประกอบธุรกิจ ที่บริษัทนี้ดำเนินกิจการอยู่ อธิบายภาพรวม ที่มา กลุ่มบริษัทย่อยและบริษัทร่วม แจ้งว่าบริษัทดำเนินธุรกิจอะไร มีรายละเอียดผลิตภัณฑ์และบริการเป็นอย่างไร ลักษณะอุตสาหกรรมที่บริษัทดำเนินกิจการอยู่

โดยต้องพิจารณาว่าอุตสาหกรรมนี้มีแนวโน้มที่จะเป็นอย่างไรในอนาคต มีการแข่งขันเป็นอย่างไร นักลงทุนควรศึกษาข้อมูลของบริษัทอื่น ๆ ที่อยู่ในธุรกิจเดียวกันเพื่อเปรียบเทียบข้อมูลต่าง ๆ ก่อนตัดสินใจลงทุน

3. ความสามารถในการแข่งขันของบริษัท โดยพิจารณาว่าบริษัทนี้มีส่วนแบ่งการตลาดเป็นอย่างไร มีนโยบายการดำเนินงานอย่างไร มีคู่แข่งหรือไม่ แล้วคู่แข่งคือใคร นอกจากนี้นักลงทุนอาจจะลองไปใช้บริการดู เพื่อประกอบการตัดสินใจ

4. วัตถุประสงค์ในการระดมทุน เช่น เพื่อใช้สำหรับการขยายกิจการ พัฒนาโครงการทั้งปัจจุบันและโครงการในอนาคต ชำระคืนหนี้ และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนของกิจการ ซึ่งจะช่วยให้ประเมินโอกาสและความเสี่ยงในอนาคตข้างหน้าได้ และสะท้อนถึงโอกาสในการเติบโตของธุรกิจและการสร้างผลตอบแทนกลับมายังผู้ถือหุ้น

5. วิเคราะห์งบการเงินของบริษัท วิเคราะห์อัตราส่วนทางการเงิน และคาดการณ์ผลประกอบการณ์ในอนาคต โดยวิเคราะห์จากงบกำไรขาดทุนเพื่อดูความสามารถในการทำกำไร วิเคราะห์งบกระแสเงินสดเพื่อดูความสามารถในการสร้างกระแสเงินสดและเราภาพของกำไร และวิเคราะห์งบดุลเพื่อตรวจสอบสถานะทางการเงิน ความสามารถในการชำระหนี้ และโครงสร้างเงินทุนของบริษัท และต้องดูข้อมูลที่มีผลกระทบจากเหตุการณ์สําคัญหรือปัจจัยสําคัญด้วย

เช่น การควบรวมกิจการ การยกเลิกหรือหยุดการดําเนินธุรกิจ การได้มาหรือจําหน่ายไปซึ่งสินทรัพย์ที่มีนัยสําคัญ สภาพคล่องและแหล่งเงินทุนของบริษัท และเราภาพสินทรัพย์ของบริษัท เป็นต้น นอกจากนี้ให้ลองเปรียบเทียบกับบริษัทอื่นในอุตสาหกรรมเดียวกันที่อยู่ในตลาดแล้ว เพื่อให้มีมาตรฐาน (benchmark) สำหรับการวิเคราะห์

6. พิจารณาโครงสร้างผู้ถือหุ้น โดยเฉพาะผู้ถือหุ้นรายใหญ่ว่าเป็นใครบ้าง มีความน่าเชื่อถือมากน้อยแค่ไหน และสัดส่วนการถือหุ้นว่าใครเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ เจ้าของที่ก่อตั้งกิจการจะยังคงอยู่กับบริษัทต่อไปหรือไม่

หากพบว่าเป็นการถือหุ้นแบบกระจายและถือในสัดส่วนไม่มาก เมื่อเข้าตลาดแล้วเจ้าของที่ก่อตั้งกิจการอาจมีการขายหุ้นออกมาเมื่อพ้นระยะเวลาห้ามซื้อขายและจะส่งผลต่อราคาหุ้นและความน่าเชื่อถือของบริษัทในอนาคต

นอกจากจะพิจารณาจากหนังสือชี้ชวนการเสนอขายหลักทรัพย์ครั้งแรกต่อประชาชนของหุ้น IPO ก่อนซื้อ เรายังควรพิจารณาสภาวะการลงทุนในขณะที่หุ้น IPO  เข้าตลาด ซึ่งถือเป็นปัจจัยภายนอกประกอบด้วย เพราะหากสภาพตลาดมีแนวโน้มที่ไม่ดี อาจส่งผลให้เมื่อเข้าตลาดแล้ว หุ้นนั้นมีราคาตกต่ำลงและส่งผลให้เราขาดทุนอย่างหนักได้

what is IPO

จอง หุ้น IPO ยัง ไง?

เนื่องจากหุ้น IPO มีจำนวนหุ้นที่ค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับนักลงทุนทั้งหมด ทำให้คนที่จะได้หุ้นจองมีเพียงจำนวนหนึ่งเท่านั้น ดังนั้นแม้ว่าเราจะได้วิเคราะห์เป็นอย่างดีแล้วว่าหุ้น IPO ตัวนี้เป็นหุ้นที่ดี แต่เราอาจไม่สามารถเข้าซื้อทันเวลาได้ก็เป็นไปได้ โดยทั่วไปแล้วนักลงทุนจะสามารถซื้อหุ้น IPO ได้ใน 2 ลักษณะ ดังนี้

1. จองซื้อ หุ้น IPO ก่อนเข้าตลาดหุ้น (Primary Market)  ผู้ลงทุนที่จะซื้อหุ้น IPO ไม่สามารถซื้อขายกับตลาดหลักทรัพย์ หรือบริษัทจดทะเบียน แต่จะต้องทำการจองซื้อ ผ่านผู้จัดจำหน่ายหลักทรัพย์ หรือที่เรียกกันว่า อันเดอร์ไรท์เตอร์ (Underwriter) คือ บริษัทหลักทรัพย์ที่ได้รับใบอนุญาตให้จัดจำหน่ายหลักทรัพย์ โดยผู้จัดจำหน่ายหลักทรัพย์ทำหน้าที่เสนอขายหลักทรัพย์แก่ประชาชนทั่วไปแทนบริษัทผู้ออกหลักทรัพย์ ซึ่งการเสนอขายหุ้น IPO  แต่ละครั้งจะไม่มีกฎเกณฑ์แน่นอนตายตัวว่าจะจองด้วยวิธีใด ผ่านช่องทางไหน จ่ายเงินอย่างไร หรือจัดสรรอย่างไร ผู้ลงทุนจะต้องศึกษารายละเอียดต่าง ๆ จากเว็บไซต์ และในความเป็นจริงนั้นหุ้นจะมีจำนวนจำกัดไม่ใช่ว่าจะจองกันได้ทุกคน เช่น การกำหนดโควต้าการจองหุ้น IPO ให้กับนักลงทุนบางกลุ่มที่มีปริมาณการซื้อขายเยอะ ๆ หรือกับกลุ่มลูกค้าพิเศษ ผู้มีอุปการคุณที่สัมพันธ์ดีกับบริษัทนั้น ๆ 

หุ้น IPO ที่ผ่านมา ถ้าสภาพตลาดหุ้นมีแนวโน้มที่ดี มีโอกาสยืนเหนือราคาจองได้และมักให้ผลตอบแทนสูงกว่าราคาจอง ดังนั้นการจองซื้อหุ้น IPO จึงนับเป็นการลงทุนที่มีโอกาสในการทำกำไรสูงภายในช่วงเวลาสั้น ๆ ในทางตรงกันข้ามหากสภาพเศรษฐกิจไม่ดี หุ้น IPO นั้นก็อาจมีโอกาสที่จะมีราคาซื้อขายที่ต่ำกว่าราคาจอง ส่งผลให้เราขาดทุนได้เช่นกัน

2. ซื้อหุ้น IPO ในตลาดเมื่อเข้ามาซื้อขายแล้วใน Secondary Market การซื้อขาย IPO ในลักษณะนี้จะเกิดขึ้นหลังจากบริษัทดังกล่าวจดทะเบียนตลาดหลักทรัพย์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว นักลงทุนจะต้องศึกษาข้อมูลพื้นฐานของหุ้น IPO อย่างละเอียดรอบคอบ ไม่ควรรีบร้อนเข้ามาลงทุนหุ้น IPO ในช่วง 1 เดือนแรกของการซื้อขาย เพราะในช่วงแรก ๆ ของการซื้อขาย จะมีการเก็งกำไรอยู่ค่อนข้างสูง โดยจะเป็นการซื้อขายผ่านกระดานซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ ราคาหุ้นจะขึ้นลงเป็นอย่างมากในช่วงแรกอย่างเห็นได้ชัดเจน แต่ IPO บางตัวราคาหุ้นต่ำกว่าราคาจองก็มีหลายตัว ทั้งนี้ผู้ลงทุนต้องมีบัญชีหลักทรัพย์ก่อน จึงจะเข้าซื้อขายได้ โดยสามารถเปิดบัญชีซื้อขายหุ้นแบบออนไลน์ง่าย ๆ ซึ่งปัจจุบันมีให้เลือกมากมาย และมีจุดเด่นต่างกันเพื่อให้เราได้เลือกสรรแบบที่ตอบโจทย์การลงทุน สามารถซื้อขายผ่านโปรแกรมออนไลน์และแอพพลิเคชั่นผ่านมือถือได้อย่างสะดวกด้วย

**คำเตือน การลงทุนย่อมมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลก่อนตัดสินใจลงทุน

เนื้อหาในบทความเป็นเพียงความเห็นส่วนตัวของผู้เขียนบทความ เนื้อหาของบทความนี้ใช้สำหรับประกอบการตัดสินใจก่อนการลงทุนเท่านั้น ผู้อ่านควรศึกษาปัจจัยประกอบจากแหล่งข้อมูลหลายแห่งก่อนการตัดสินใจ และใช้วิจารณญาณส่วนบุคคลในการพิจารณาเลือกโบรกเกอร์ลงทุนที่เหมาะสมแก่ท่าน

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

รับฟรีทันที! เงินเสมือนจริง $50,000 เพื่อฝึกฝนการเทรดกับ Mitrade!