สัญญาอัจฉริยะ หรือ Smart Contract คืออะไร? สำคัญอย่างไร?

Table of Contents
Smart Contract คืออะไร
Smart Contract หรือ สัญญาอัจฉริยะ เกิดมาจาก Nick Szabo ที่เป็นผู้เสนอไอเดียว่า Blockchain สามารถใช้ในการบันทึกข้อตกลงของสัญญาที่สามารถดำเนินการได้ด้วยตัวเอง ไม่จำเป็นต้องมีคนกลาง หรือใช้พนักงานในการมานั่งตรวจสอบเอกสาร โดยทุกอย่างให้คอมพิวเตอร์และโปรแกรมจัดการ และการ Hack ข้อมูลเกิดขึ้นได้ยาก
ทำไม Smart Contract กับ Blockchain ถึงทำงานรวมกัน?
Blockchain เป็นเทคโนโลยีที่ช่วยนำมาซึ่งความมั่นคงปลอดภัย น่าเชื่อถือ โดยไม่ต้องอาศัยคนกลาง และเป็นแพลตฟอร์มในการทำธุรกรรมแบบ peer-to-peer ที่มีการบันทึกข้อมูลรายการธุรกรรมทั้งหมดแบบกระจายศูนย์ (Decentralize) โดยการพัฒนาของ Blockchain นั้นได้มีการพัฒนาอยู่เรื่อย ๆ
- เริ่มจากยุคแรก คือ Blockchain 1.0 เมื่อปี ค.ศ. 2008
- ในระยะต่อมา Blockchain 2.0 โดยในยุคนี้เป็นยุคที่ Blockchain พัฒนาความสามารถในการเขียนโปรแกรมหรือที่เรียกกันว่า Smart Contract บน Blockchain ที่ไม่มีตัวกลางควบคุมและไม่ต้องกลัวใครไม่ทำตามเงื่อนไข
- การพัฒนาเทคโนโลยีในระยะถัดมา Blockchain 3.0 ในปี ค.ศ. 2017 ซึ่งเป็น ยุคของ Dapp หรือ Decentralized application โดยมีแนวคิดเกี่ยวกับ Smart Contract เพื่อสร้างกระบวนการแบบกระจายศูนย์ที่เป็นอิสระ
สัญญาอัจฉริยะส่วนใหญ่มักเกี่ยวข้องกับ cryptocurrencies โดยทั้งหมดนี้เพื่อให้ผู้เข้าร่วมสามารถมั่นใจได้ในผลลัพธ์ทันที แบบไม่ต้องให้คนกลางเข้าไปเกี่ยวข้องหรือเสียเวลาในการทำธุรกรรม
Smart Contract ทำงานยังไง
กระบวนการทำงานสามารถแบ่งย่อยได้ 3 ขั้นตอนดังนี้
- การสร้างข้อตกลง
ข้อตกลงระหว่างผู้ซื้อและผู้ขายจะถูกแปลงเป็น Code จากนั้นการทำธุรกรรมต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจะถูกบันทึกโดยอัตโนมัติในบล็อกเชนของอีเธอเรียม Smart Contract แต่ละอันจะมีหมายเลขที่อยู่เป็นของตัวเอง และเมื่อ Smart Contract ถูกบันทึกในบล็อกเชนของอีเธอเรียม ใครก็ตามที่มีที่อยู่ของตัวสมาร์ทคอนแทรคนั้น ๆ จะสามารถเข้าถึง Smart Contract ได้
ข้อควรรู้คือ: เมื่อสร้าง Smart Contract แล้วจะไม่สามารถย้อนกลับไปแก้ไขได้
- Triggering Events
Smart Contract จำเป็นที่จะระบุถึงเหตุการณ์, จุดประสงค์ และวันหมดอายุของสัญญาเพื่อให้ตัว Smart Contract ทำงานได้ด้วยตัวมันเองโดยพิจารณาจากข้อตกลงที่ถูกแปลงเป็นรหัส ซึ่งรหัสเหล่านี้จะระบุขั้นตอนต่าง ๆ โดยอาศัยหลักเหตุและผล คือเมื่อมี Trigger Event หรือสิ่งที่เป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนด ระบบจะดำเนินการทำตามเงื่อนไขให้อัตโนมัติ
- การยุติข้อตกลง
เมื่อ Smart Contract ถูกสร้างมาแล้ว ผู้ซื้อและผู้ขายจำเป็นที่จะต้องให้สิทธิ์การเข้าถึงสินค้า/บริการ หรือสัญญาที่ใส่ไว้ใน Smart Contract ตามที่ได้ตกลงกันไว้ในตอนแรก แต่ถ้าหากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ได้ทำตามที่ระบุไว้ในสัญญาภายในระยะเวลาที่ตกลงกันไว้ บล็อกเชนก็จะคืนเงินไปให้อีกฝ่ายหนึ่ง
ประโยชน์ของ Smart Contract
- ตามตัวอย่างด้านบนจะเห็นได้ว่าการใช้ Smart Contract สามารถตัดตัวกลางและลดขั้นตอนที่ไม่จำเป็นระหว่างการทำธุรกรรมออกไปได้ หมายความว่าผู้ใช้สามารถประหยัดค่าใช้จ่ายและเวลาลงไปได้อย่างมีนัยสำคัญนั่นเอง
- การมีประสิทธิภาพและมีความแม่นยำ หมายความว่า Smart Contract มีความเป็นดิจิทัลและมีความเป็นอัติโนมัติ ไม่ต้องเสียเวลาในการพิมพ์กระดาษและตรวจสอบข้อผิดพลาดในการจัดเก็บเอกสารอีกด้วย
- การที่ Smart Contract เป็นโปรแกรมที่วิ่งอยู่บน Blockchain หมายความว่า Smart Contract ได้สืบทอดคุณสมบัติของ Blockchain มาทั้งหมดแล้ว เช่น เรื่องของความน่าเชื่อถือ โปร่งใส ตรวจสอบย้อนหลังได้ และปลอดภัย ซึ่งเป็นพื้นฐานของ Blockchain นั่นเอง
สัญญาอัจฉริยะสำคัญอย่างไร
สัญญาอัจฉริยะถือเป็นสิ่งที่ช่วยให้นักพัฒนาสร้างแอปและโทเค็นแบบกระจายอำนาจได้หลากหลาย โดยสัญญาอัจฉริยะถูกนำไปใช้ในแทบจะทุกสิ่งอย่าง ตั้งแต่เครื่องมือทางการเงินใหม่ ๆ ไปจนถึงประสบการณ์ ด้านโลจิสติกส์และเกม ซึ่งสัญญาจะได้รับการจัดเก็บไว้บนบล็อกเชน เช่นเดียวกันกับธุรกรรมเงินดิจิทัลอื่น ๆ อีกด้วย
เมื่อเข้าใจภาพรวมของ Smart Contract ไปแล้ว ต่อไปเรามาดูตัวอย่างของการใช้ Smart Contract ร่วมกับอุตสาหกรรมต่าง ๆ โดยมีตัวอย่างดังต่อไปนี้
ตัวอย่าง Smart Contract
ในที่นี่จะขอยกตัวอย่างการซื้อขายรถยนต์ โดยการทำสัญญาทั่วไปจะเป็นการทำสัญญาระหว่าง 2 ฝ่าย

ที่มารูปภาพ: https://blockchainhub.net/blog/infographics/smart-contracts-explained/
จากตัวอย่าง (ในรูปภาพที่1) หากนาย A ต้องการซื้อรถยนต์จากนาย B ซึ่งต้องมีบุคคลที่สามที่เชื่อถือได้จะต้องยืนยันและรับรองความถูกต้องของข้อตกลงซึ่งอย่างน้อยหนึ่งคน แต่โดยปกติแล้วบุคคลที่สามต้องเป็นผู้ที่เชื่อถือได้ เช่น หน่วยงานด้านทะเบียนยานยนต์ร่วมกับทนายความและ / หรือ บริษัท ประกันภัย ซึ่งเป็นกระบวนการที่มีความซับซ้อนและใช้เวลานานและต้องเสียค่าธรรมเนียมเป็นจำนวนมากสำหรับคนกลางเหล่านี้

ที่มารูปภาพ: https://blockchainhub.net/blog/infographics/smart-contracts-explained/

ที่มารูปภาพ: https://blockchainhub.net/blog/infographics/smart-contracts-explained/
กรณีที่เป็น Smart Contract เมื่อทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาอยู่ในเครือข่าย Blockchain แล้ว (ดังรูปภาพที่ 3 และ 4) ถ้านาย A ต้องการซื้อรถจากนาย B โดยใช้ Smart Contract บน Blockchain ธุรกรรมจะได้รับการตรวจสอบโดยแต่ละ Node ในเครือข่าย Blockchain เพื่อดูว่าเป็นเจ้าของรถหรือไม่และถ้านาย A มีเงินเพียงพอที่จะจ่ายเงินให้กับนาย B

ที่มารูปภาพ: https://blockchainhub.net/smart-contracts
ขอบคุณข้อมูลจาก: https://www.etda.or.th/th/
เราลองมาดูตัวอย่างการใช้งาน Smart Contract ในโลกคริปโตในมิติต่าง ๆ ดังนี้
เราสามารถนำ Smart Contract ไปประยุกต์ใช้ได้หลากหลายไม่ว่าจะเป็น การให้บริการทางการเงิน ระบบลงทุนอสังหาริมทรัพย์ และการปรับใช้ Smart Contract กับวงการกฎหมายอีกด้วย
- Smart Contract กับ การเงิน
นักพัฒนาใช้ประโยชน์จาก Smart Contract เพื่อทำข้อตกลงหรือเงื่อนไขทางธุรกรรมการเงิน ลักษณะเหมือนระบบการเงินเดิม เพียงแต่ไม่มีตัวกลางอย่างสถาบันการเงิน โดยดำเนินการได้ด้วยตนเองตามเงื่อนไขที่โปรแกรมเขียนไว้ ทำให้เกิดแพลตฟอร์ม Decentralized Finance ที่ทำงานเที่ยงตรงและน่าเชื่อถือ ผู้ใช้งานไม่ต้องเชื่อมั่นในผู้สร้าง แต่เชื่อมั่นในโปรแกรม Smart Contract ที่เขียนขึ้นมาและตรวจสอบได้จากทุกฝ่าย
เช่น MakerDAO (แพลตฟอร์มสำหรับสร้างสินทรัพย์ดิจิทัล) ใช้ Smart Contract ทำสัญญาสร้าง Stablecoin อย่าง Dai ซึ่งมาจากการค้ำประกันด้วยคริปโตฯ ตามที่ระบุไว้ในสัญญาระหว่างผู้ใช้งานกับแพลตฟอร์ม
- Smart Contract กับ อสังหาริมทรัพย์
Smart Contract ช่วยให้ผู้คนเข้าถึงการลงทุนเป็นเจ้าของอสังหาฯ ได้บางส่วน หรือที่เรียกว่า Fractional ownership ซึ่งช่วยลดข้อจำกัดในการลงทุนอุตสาหกรรมนี้ โดยผสมผสานแนวคิดทำธุรกรรมอสังหาฯ กับนวัตกรรมบล็อกเชนเข้าไว้ด้วยกัน
ปัจจุบันได้เกิดโปรเจกต์การลงทุนอสังหาฯ ในโลกดิจิทัลที่ประสบความสำเร็จมากมายอย่าง RealT และ SolidBlock โดยเปิดให้ผู้ใช้งานนำซื้อสินทรัพย์ดังกล่าวด้วยโทเคนได้ นอกจากนี้ ยังมีการนำ Smart Contract เข้ามาช่วยในเรื่องของขั้นตอนธุรกรรมและสัญญาอสังหาฯ อีกด้วย ถือว่า Smart Contract เป็นตัวช่วยที่ดีเลยทีเดียว ทั้งช่วยประหยัดเวลา และลดขั้นตอนอื่น ๆ อีกมากมาย
- Smart Contract กับ DAOs
Daos ใช้ Smart Contract ในการเข้ารหัสโครงสร้างบริษัท ช่วยให้มีระบบการทำงานให้ผลตอบแทนที่เป็นตามเงื่อนไขอัตโนมัติ เอื้อให้ประหยัดค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการ ครอบคลุมทั้งค่าใช้จ่ายในการเช่าพื้นที่ออฟฟิศ การว่าจ้างส่วนอื่น หรือแม้แต่การทำเรื่องจ่ายสิ่งต่าง ๆ
- Smart Contract กับ กฎหมาย
ถือเป็นอีกหนึ่งในกรณีศึกษาที่น่าสนใจ การปรับใช้ Smart Contract กับวงการกฎหมายจะช่วยในแง่ของการให้ข้อมูลทำข้อตกลงทางธุรกิจ โดยมักนำมาปรับใช้ในรูปของ e-signatures ถือว่าเข้ามาเป็นตัวเลือกในการทำสัญญาที่มีผลบังคับใช้ตามกฎหมาย ช่วยลดค่าใช้จ่ายเมื่อเทียบกับการใช้ทนายความหรือตัวกลางอื่นในกระบวนการทำสัญญาต่าง ๆ
ตัวอย่างเหรียญ Smart Contract มีอะไรบ้าง
เหรียญคริปโตฯ Smart Contract มีหลายตัวที่น่าสนใจ เราลองมาดูตัวอย่างเหรียญ Smart Contract ดังตารางด้านล่างกัน
ชื่อเหรียญ | รายละเอียด |
Ethereum (ETH) | Ethereum ที่ถูกสร้างขึ้นโดย Vitalik Buterin เปิดตัวในปี 2015 ที่ขยายขอบเขตของ Smart Contract มาใช้กับเรื่องของเอกสารและพื้นที่เปิดที่ทำให้เหล่านักพัฒนาสามารถเข้ามาเขียนโปรแกรมได้ง่ายกว่าเครือข่าย Bitcoin |
Solana (SOL) | บล็อกเชนที่มีฟังก์ชัน smart contract ที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อการขยายการใช้งาน (scalability) โดยเฉพาะ โดยมีเป้าหมายที่จะเป็นแพลตฟอร์มที่ช่วยให้นักพัฒนาสามารถพัฒนา DApp ได้โดยไม่ต้องคำนึงถึงข้อจำกัดเรื่องประสิทธิภาพของบล็อกเชน |
Cardano (ADA) | แพลตฟอร์มบล็อกเชนที่ใช้กลไก Consensus แบบ Proof of Stake (POS) อีกทั้งยังจัดเป็นโปรเจกต์แบบ Open Source ช่วยให้สร้างระบบนิเวศในการทำธุรกรรมที่โปร่งใส ปลอดภัย และยุติธรรม นอกจากนี้ ได้เริ่มประยุกต์ใช้ Smart Contract เมื่อกันยายน ปี 2021 ถูกนำมาใช้กับบริษัทด้านการเกษตร เพื่อช่วยดูสินค้าว่าใหม่หรือเก่า |
Avalanche (AVAX) | เป็นโปรเจกต์นี้มุ่งเน้นการเป็นแพลตฟอร์มที่ใช้ Smart Contract ในการทำธุรกรรมรวดเร็ว โดยประยุกต์ใช้เทคโนโลยีบล็อกเชน 3 แบบเข้าด้วยกัน เพื่อให้ทำธุรกรรมได้เร็วขึ้น ไม่ซับซ้อน รวมทั้งค่าธรรมเนียมต่ำและปรับขนาดธุรกรรมได้ |
Cosmos (ATOM) | ขนานนามตัวเองว่าเป็น The Internet of Blockchain มุ่งเน้นการทำงานร่วมกันระหว่างบล็อกเชนต่างเครือข่าย เมื่อผู้คนเริ่มหันมาใช้งาน Smart Contract การทำงานข้ามเชนจึงกลายเป็นเรื่องสำคัญ โดยเครือข่าย Cosmos ต้องการสร้างระบบนิเวศบล็อกเชนที่ทำงานสื่อสารข้ามเชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ |
Algorand (ALGO) | ถือว่าเป็นอีกหนึ่งโปรเจกต์เหรียญคริปโตฯ ที่มุ่งพัฒนาขึ้นมาแก้ปัญหาในแวดวงการเงิน โดยต้องการเป็นแพตฟอร์มที่มีโปรเจกต์ DeFi เข้ามาใช้งาน นอกจากนี้ Algorand วางตัวเองสู่การเป็น CBDC รวมทั้งถูกนำไปใช้เป็นเทคโนโลยีพัฒนาบล็อกเชนในเอลซัลวาดอร์ |
Elrond (EGLD) | เหรียญด้านซอฟต์แวร์เพื่อใช้งานบน smart contracts ที่มีจุดประสงค์ในการปรับขนาดและค่าธรรมเนียมที่ต่ำ โดยได้รับการออกแบบมาเพื่อแข่งขันกับบล็อกเชนหลักๆ อย่างเช่น Ethereum และ Zilliqa |
ข้อดีและข้อจำกัดของ Smart Contract
ข้อดีของ Smart Contract
- ความปลอดภัยสูง การทำธุรกรรมต่าง ๆ บนบล็อกเชนจะถูกบันทึกเข้ารหัสไว้จึงทำให้ยากต่อการแฮ็กทำให้ไม่สามารถเข้าไปแก้ไขหรือปลอมแปลงข้อมูลได้ ทำให้การแฮ็กข้อมูลได้นั้นต้องเปลี่ยนข้อมูลทั้งเครือข่ายซึ่งมีความเป็นได้ที่น้อยมากเลยค่ะ
- ทำธุรกรรมรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ เมื่อเงื่อนไขนั้นถูกต้อง สัญญาจะได้รับการดำเนินการในทันที เพราะ Smart Contract ดำเนินการด้วยตนเองแบบอัตโนมัติ ทำให้ทั้งผู้ซื้อและผู้ขายดำเนินธุรกรรมต่าง ๆ ได้อย่างรวดเร็ว เพียงปฏิบัติตามข้อกำหนดหรือเงื่อนไขที่ระบุไว้ของ Smart Contract
- ช่วยประหยัดค่าใช้จ่าย Smart Contract เข้ามาลดความสำคัญของตัวกลางออกไป เนื่องจากไม่มีตัวกลางจึงตัดค่าธรรมเนียมออกไป ทำให้ผู้ใช้งานประหยัดค่าใช้จ่ายเดิมที่ต้องจ่ายให้กับตัวกลางเพื่อดำเนินงาน
ข้อจำกัดของ Smart Contract
- ข้อบกพร่องของ โปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่ส่วนใหญ่เป็น Open-source ซึ่งถ้าได้รับการออกแบบมาไม่ดี แฮกเกอร์สามารถใช้ประโยชน์จากข้อบกพร่องที่ต่าง ๆ ได้เพื่อสร้างความเสียหายให้กับผู้ใช้ ซึ่งเป็นสาเหตุให้กลุ่มแฮกเกอร์นิยมทำการโจรกรรมบ่อยครั้ง
- ไม่มีข้อกฎหมายรองรับ เทคโนโลยี Smart Contract ถือว่าเป็นสิ่งใหม่ที่ใช้งานได้ไม่นาน ส่งผลให้ผู้คนส่วนใหญ่ยังขาดความรู้ความเข้าใจ ทำให้ยังไม่มีกฎหมายหรือเกณฑ์ข้อบังคับของหน่วยงานภาครัฐรองรับการใช้งาน Smart Contract เมื่อเกิดกรณีผิดพลาดขึ้น จึงส่งผลกระทบต่อผู้ใช้งานโดยตรง
- ข้อจำกัดของการใช้งาน ผู้ใช้งานจำเป็นต้องมีความรู้ภาษาคอมอย่าง Solidity ที่ไว้ใช้สำหรับเขียนข้อกำหนดหรือเงื่อนไขต่าง ๆ ลงในสัญญา หากเงื่อนไขการทำงานซับซ้อน อาจต้องจ้างนักพัฒนามาเขียน Code แทน
- ปัญหาของโค้ดใน Smart Contract ในการทำธุรกรรมเราไม่ได้แลกแค่เงินกันผ่านอินเตอร์เน็ตแล้ว เรากำลังแลกเอกสาร แลกตัวตน แลกทรัพย์สิน เรียกได้ว่า แทบจะแลกเปลี่ยนกันได้เกือบทุกอย่าง และการแลกเปลี่ยนนี้ก็โปร่งใส สามารถตรวจสอบได้ด้วย แต่ถ้าเกิดว่าโค้ดใน Smart Contract เกิดมีปัญหา ถ้าเป็นคนทั่วไป เราคงไปฟ้องศาลได้ แต่นี่เราคงฟ้องอะไรกับระบบบล็อกเชนไม่ได้
สรุป
Smart Contract คือชุดคำสั่งทางคอมพิวเตอร์หรือโปรแกรมที่สามารถดำเนินการได้ด้วยตัวเองเมื่อเงื่อนไขครบถ้วนตามที่กำหนด พอนำมาประยุกต์ใช้กับ Blockchain ที่โดนเด่นด้านความปลอดภัย โปร่งใส และเชื่อถือได้ จึงเป็นการปลดล็อกความสามารถใหม่ ๆ ให้กับ Blockchain ตั้งแต่เรื่องของการซื้อขาย การระดมทุน การยืนยันตัวตน และคุณสมบัติอื่น ๆ อีกมากมายที่จินตนาการของมนุษย์จะสามารถสร้างสรรค์ขึ้นมาได้
ถ้านักลงทุนได้อ่านบทความข้างต้นกันไปแล้ว แน่นอนว่าในอนาคต Smart Contract น่าจะกลายเป็นเทคโนโลยีที่มีประโยชน์ และเข้ามาอยู่ในชีวิตประจำวันผู้คนได้ไม่ยาก อีกทั้งยังช่วยลดการทำงานเอกสารของมนุษย์
อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีคำถามว่าหากเกิดการรันโค้ดผิดพลาด หรือโค้ดถูกทำลาย (ซึ่งมันใช้คำสั่งทำลายได้) เราจะฟ้องร้องกับใคร? ดังนั้นสัญญาอัจฉริยะจึงเป็นเทคโนโลยีที่ยังคงต้องถูกพัฒนาต่อ เพื่อให้ทำงานได้อย่างสมบูรณ์แบบที่สุด
“การลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลมีความเสี่ยงและความผันผวนสูง มุมมองและความคิดเห็นจากผู้เขียนมีวัตถุประสงค์เพื่อการให้ข้อมูลเท่านั้น การลงทุนใด ๆ ย่อมมีความเสี่ยงเสมอ ควรศึกษาข้อมูลให้แม่นยำก่อนลงทุน และสุดท้ายนี้ผู้เขียนหวังว่าบทความดังกล่าวจะเป็นประโยชน์ต่อผู้อ่านไม่มากก็น้อยนะคะ”
**คำเตือน การลงทุนย่อมมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลก่อนตัดสินใจลงทุน
เนื้อหาในบทความเป็นเพียงความเห็นส่วนตัวของผู้เขียนบทความ เนื้อหาของบทความนี้ใช้สำหรับประกอบการตัดสินใจก่อนการลงทุนเท่านั้น ผู้อ่านควรศึกษาปัจจัยประกอบจากแหล่งข้อมูลหลายแห่งก่อนการตัดสินใจ และใช้วิจารณญาณส่วนบุคคลในการพิจารณาเลือกโบรกเกอร์ลงทุนที่เหมาะสมแก่ท่าน
ใส่ความเห็น