ฟินเทค(Fintech)คืออะไร มีกี่ประเภท? ประโยชน์อย่างไร

รู้จักกับ ” FinTech” เทคโนโลยีทางการเงินเป็นคำที่มาพร้อมกับกระแสแห่งโลกดิจิตอลที่จะทำให้กระเป๋าเงินของคุณมีความสะดวกรวดเร็วปลอดภัยลดต้นทุนและตอบสนองความต้องการของผู้ใช้บริการทุกรูปแบบ
Table of Contents
ฟินเทค (Fintech) คืออะไร?
ฟินเทค (Fintech) มาจากการรวมของ 2 คำ คือ “Financial” และ “Technology” หมายถึง เทคโนโลยีทางการเงินหรือการนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ในธุรกิจการเงิน ซึ่งเป็นสิ่งที่ค่อย ๆ เข้ามามีบทบาทสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภค ในยุคแรก ๆ อย่างเช่น ตู้เอทีเอ็ม ตู้เติมเงิน หรือตู้จ่ายเงินค่าบริการต่าง ๆ จนกระทั่งถึงบริการทางการเงินผ่านอินเตอร์เน็ต ฯลฯ ช่วยให้ทำธุรกรรมทางการเงินสะดวกรวดเร็ว และช่วยให้ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงบริการทางการเงินได้ง่ายยิ่งขึ้น สามารถทำรายการได้ด้วยตนเอง
ยกตัวอย่างเช่น ธุรกิจแบบเดิมที่มีช่องทางการขายแบบเก่า เก็บแค่เงินสด เกิดวันหนึ่งเขาอยากจะมีช่องทางการขายที่มากขึ้น มีช่องทางการจ่ายเงินที่มากขึ้น เลยใช้การโอนผ่านธนาคาร จ่ายผ่านมือถือ ผ่าน QR Code นั่นแหละเรียกว่า Fintech
สำหรับ Fintech ในเมืองไทย ตื่นตัวกันมาสักพักแล้ว และตัวอย่างที่ใกล้ตัวมาก ๆ ก็คือ ระบบ Payment API อย่าง Omise รวมไปถึงระบบ Crowd Funding ซึ่งเป็นวิธีการระดมทุนผ่านระบบออนไลน์ซึ่งล่าสุดทางสำนักงาน กลต. ก็ได้ออกกฎหมายมารองรับแล้ว ไม่เพียงแค่นี้ ทั่วทั้งโลกกำลังถูก Fintech แทรกซึมเข้าไปอยู่ในแทบจะทุกกิจกรรมของการใช้ชีวิตเลยก็ว่าได้ เช่น
- การชำระค่าสินค้า
- การใช้จ่ายผ่านบัตรเดบิตและเครดิต
- การให้สินเชื่อผ่านระบบ Mobile Banking สำหรับการช้อปปิ้งออนไลน์
- การให้กู้ยืมระหว่างกัน (peer-to-peer lending)
- การลงทุน ก็มีบริการ Robo-advisor ที่ช่วยเข้ามาจัดพอร์ต
- การใช้ Smart Watch มาใช้ในการติดตามพฤติกรรมของผู้เอาประกัน เพื่อนําสถิติด้านสุขภาพมาเชื่อมโยงกับการคํานวณเบี้ยประกันรอบถัดไป
ฟินเทค มีความสำคัญอย่างไร?
Fintech ช่วยให้การบริการจัดการง่ายขึ้น จากเดิมหากผู้บริหารต้องการตรวจสอบงบการเงินของบริษัทอาจจะต้องรอฝ่ายบัญชีเก็บข้อมูลซึ่งอาจจะล่าช้า แต่ปัจจุบันสามารถใช้เครื่องมือ Fintech เพื่อตรวจสอบข้อมูลได้ทันที จึงนำมาสู่การตัดสินใจที่รวดเร็วและแม่นยำมากขึ้น และผลลัพธ์จะตามมาด้วยรายได้และกำไรที่เพิ่มขึ้น รวมไปถึงจะช่วยลดต้นทุนของภาคการเงินโดยรวม เมื่อต้นทุนของสถาบันการเงินลดลงแล้วจะสามารถส่งผ่านประโยชน์ไปสู่ผู้บริโภค และเพิ่มผลิตภาพของประเทศในภาพรวมได้นั่นเอง
ฟินเทคเทคโนโลยีทางการเงิน มีกี่ประเภท?
เทคโนโลยีทางการเงิน แบ่งออกได้กว้าง ๆ เป็น 7 ประเภท
Banking Technologyการนำเทคโนโลยีมาใช้กับระบบธนาคาร | เป็นสิ่งแรกเลยก็ว่าได้ที่คนมักนึกถึง เมื่อพูดถึงเทคโนโลยีทางการเงิน เป็นกลุ่มธนาคารที่หลายคนคุ้นเคยกันอยู่แล้ว เพราะมีบริการอย่าง การกู้เงิน ฝากเงิน ถอนเงินและปัจจุบันนี้ก็เห็นว่าบริการทั้งหมดของธนาคารถูกยกขึ้นไปอยู่ในรูปแบบดิจิทัลแล้ว จากที่ต้องเดินไปถึงสาขาเพื่อทำธุรกรรม วันนี้เราทุกคนก็ใช้แค่เพียงโทรศัพท์มือถือเท่านั้น |
Crowdfunding Platformsแพลตฟอร์มออนไลน์ตัวกลางในการระดมทุน | แหล่งเงินทุนที่มาจากผู้คนจำนวนมาก เป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในอดีต ด้วยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีทำให้เราสามารถดึงเงินจำนวนทีละเล็กทีละน้อยจากผู้คนจำนวนหลายร้อยจนไปถึงหลักหมื่นคนมารวมเป็นก้อนใหญ่อยู่บนแพลตฟอร์ม เพื่อช่วยให้เราได้สามารถกู้หรือยืม โดยในไทยเองก็มีหลายแพลตฟอร์มให้ใช้งาน |
Cryptocurrencyสกุลเงินดิจิทัล | ซึ่งถูกคิดค้นขึ้นมาในช่วงที่มูลค่าของเงินถดถอย โดย Cryptocurrency จะมีบทบาทอย่างมากในโลกของ FinTech เพราะจะถูกนำมาใช้ในหลาย ๆ อุตสาหกรรม และในทุกวันนี้มีเทคโนโลยีที่เจาะลึกลงในด้านนี้อีกด้วยเช่น Decentralized finance (DeFi), GameFi และอีกมากมาย |
Payment Technologyระบบการใช้จ่ายเงิน | Fintech ด้านการชำระเงิน หรือ Payment Technology โดยปัจจุบัน Fintech ประเภทนี้ทำให้มีช่องทางการจ่ายเงินที่หลากหลายมากขึ้น นอกเหนือจากการจ่ายเงินสดแล้ว ปัจจุบันการจ่ายเงินด้วยวิธีอื่น ๆ กำลังเป็นที่นิยมอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นการโอนเงินผ่าน PromptPay หรือการชำระเงินผ่าน Wallet เครดิตการ์ด ต่าง ๆ |
Enterprise Financial Softwareซอฟต์แวร์สำหรับองค์กร | ภาพคุ้นเคยที่เราคุ้นกันในการทำเอกสารการเงินคงหนีไม่พ้น สมุด กระดาษ การจดบันทึก แต่ตอนนี้ระบบขึ้นไปอยู่บน Cloud การทำธุรกรรมการเงินมี Software เข้ามาช่วย ตัวอย่างเช่น แพลตฟอร์มบัญชีที่ช่วยให้ภาคธุรกิจบริหารจัดการด้านการเงินได้ง่ายมากขึ้นโดยจะช่วยลดเวลา และทรัพยากรที่ต้องใช้งาน ทำให้ประสิทธิภาพของกระบวนการภายในองค์กรดีขึ้น |
Investment Managementเทคโนโลยีที่จะช่วยจัดการทางด้านลงทุน | จากการเดินทางไปยังสาขาเพื่อทำการลงทุน สู่การมีแพลตฟอร์มและเทคโนโลยีที่เข้ามาช่วยจัดการการลงทุน รวมถึงมีผู้ดูแลการเงินให้ผ่านแอปพลิเคชัน ไม่ว่าจะเป็น แอปพลิเคชันลงทุนใน Private fund, ทองคำ, กองทุนรวม รวมถึงแพลตฟอร์มที่ใช้ AI ช่วยในการวิเคราะห์หุ้น หรือแม้แต่การนำเทคโนโลยีอย่าง Robo Advisor มาช่วยในการจัดพอร์ตการลงทุน (Asset Allocation) |
Insurance Technologyเทคโนโลยีประกันภัย | อดีตเราคุ้นเคยกับเอกสารกระดาษต้องไปพบตัวแทนเพื่อทำการซื้อและจัดการ แต่ทุกวันนี้แค่เพียงคลิกผ่านหน้าจอก็เรียบร้อยแล้ว Fintech เปลี่ยนทุกอย่างให้กลายเป็นดิจิทัล ส่งผลให้บริษัทประกันภัยสามารถปิดการขาย และให้ความคุ้มครองลูกค้าได้ผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัล |
ทั้งหมดนี้คือรูปแบบ FinTech ที่เกิดขึ้นในไทยและไม่ใช่เรื่องใหม่แล้ว ในขณะที่วงการ FinTech มีเด็กรุ่นใหม่เข้ามาโลดแล่น เกิดผู้เล่นมากขึ้น ไม่ได้ผูกขาดอย่างแต่ก่อน ซึ่งไม่ได้เกิดขึ้นแค่ในประเทศไทยเท่านั้น แต่ยังมีบริการจากต่างประเทศเข้ามาให้บริการในไทยด้วยค่ะ
ฟินเทค มีประโยชน์อย่างไร กับใครบ้าง
ในเมื่อรูปแบบของเทคโนโลยีทางการเงิน มีอยู่มากมาย ครอบคลุมการใช้บริการแทบทุกระดับ ประโยชน์ของเทคโนโลยีทางการเงินจึงมีมากตามไปด้วย โดยอาจแบ่งประโยชน์ ตามกลุ่มผู้ใช้งานได้ดังนี้
- บุคคลทั่วไป
ได้ประโยชน์จากเทคโนโลยีทางการเงินในลักษณะการขยายโอกาสการเข้าถึงบริการทางการเงิน ที่ทำให้คนที่ไม่มีบัญชีธนาคารสามารถใช้จ่าย ทำธุรกรรม รวมถึงสามารถขอสินเชื่อ ลงทุนได้ด้วยตนเอง
- สถาบันการเงิน
ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีทางการเงินด้วยการสร้างระบบธนาคารย่อยแบบ Mobile Banking ให้อยู่ในโทรศัพท์มือถือ เป็นอีกช่องทางในการเข้าถึงลูกค้า และเก็บข้อมูลธุรกรรมของลูกค้าได้ง่ายขึ้น
- ผู้ให้บริการ E-Commerce
ใช้ประโยชน์ได้ทั้งในรูปแบบของระบบ Payment จากการเชื่อมต่อ API Data และ Banking Technology ทำให้ค้าขายในออนไลน์ง่ายขึ้น จากการจ่ายเงินผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ดังกล่าว
- นักลงทุน
เทคโนโลยีทางการเงิน เอื้อต่อการลงทุนทั้งในรูปแบบตลาด Cryptocurrency, Insurtech และ Crowdfunding Platforms ซึ่งถือเป็นโอกาสสำหรับนักลงทุนที่อยากลองลงทุนในรูปแบบใหม่ ๆ
- ผู้ประกอบการ
สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้น ผ่าน Crowdfunding Platforms รวมถึง สามารถจัดการ บริหารระบบต่าง ๆ ในองค์กรได้ดียิ่งขึ้น จากเทคโนโลยีซอฟต์แวร์ ที่พัฒนามาเพื่อใช้กับองค์กรโดยเฉพาะ

แหล่งที่มาข้อมูล: https://www.cbinsights.com/research/report/top-fintech-startups-2022/
ฟินเทค เทคโนโลยีทางการเงิน เหมาะกับใครบ้าง
เหมาะกับบุคคลทั่วไป, ธนาคาร, ผู้ให้บริการด้าน E-Commerce, ผู้ประกอบการ, และนักลงทุน สรุปแล้ว Fintech เหมาะกับทุกคน และอุตสาหกรรมธุรกิจทุกภาคส่วนทั่วโลก เพราะ Fintech อยู่เบื้องหลังการใช้ชีวิตประจำวันของเราตลอดเวลา และมีความสะดวกต่อการนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ในการบริหารเงินทุนสมัยใหม่ อย่างมีรูปแบบ และป็นระบบมากยิ่งขึ้น ไม่ต้องเสียเวลาหลายขั้นตอน โดยบางครั้งบุคคลทั่วไปเองก็สามารถทำธุรรมทางการเงินได้ด้วยตัวเอง ถือว่าเป็นเทคโนโลยีที่สะดวก และรวดเร็วมากในปัจจุบันนี้เลย
Fintech มีผลกระทบอย่างไรกับธนาคารและอุตสาหกรรมอื่น
ประโยชน์ | ผลกระทบ |
บุคคลทั่วไป | ธนาคารหรือสถาบันทางการเงิน |
สถาบันทางการเงิน | ห้างสรรพสินค้า |
ผู้ให้บริการ E-Commerce | |
นักลงทุน | |
ผู้ประกอบการ |
จากที่ได้กล่าวมาว่าเทคโนโลยีทางการเงิน คือการทำให้คนทั่วไปมีอำนาจจัดการการเงินของตัวเองมากพอกับที่ธนาคารสามารถทำได้ ประกอบกับมีหลาย ๆ รูปแบบในการให้บริการ นอกจากประโยชน์ที่เกิดขึ้นแล้ว เราจะพบการตั้งคำถามกับเทคโนโลยีทางการเงิน ในลักษณะการ Disruption ระบบการเงินแบบดั้งเดิมด้วย โดยกลุ่มที่มองว่าอาจได้รับผลกระทบจากเทคโนโลยีทางการเงิน มีอยู่ 2 กลุ่มคือ
- ธนาคารหรือสถาบันการเงิน
ด้วยความเป็นเจ้าเก่าที่ครองอำนาจทางการเงินมาโดยตลอด ทำให้เมื่อเทคโนโลยีทางการเงินกำเนิดขึ้นมา มีลักษณะที่คล้ายกับการให้บริการของทางธนาคาร จึงมีการตั้งคำถามว่าธนาคารจะอยู่ได้หรือไม่ หากคนหันไปใช้เทคโนโลยีทางการเงินกันมากขึ้น พบว่าแม้เทคโนโลยีทางการเงิน จะมีหลายประเภทเพื่อตอบสนองความต้องการในการบริหารจัดการการเงิน แต่ไม่ได้มีที่ไหนรับฝากเงินเหมือนที่ธนาคารทำ ดังนั้นธนาคารไม่ได้มีบทบาทลดลงจากการเข้ามาของเทคโนโลยีทางการเงิน และในปัจจุบัน ธนาคารก็ย้ายตัวเองลงไปอยู่ในโทรศัพท์มือถือที่ใกล้ชิดกับผู้ใช้มากขึ้น แต่อาจมีผลกระทบต่อคนทำงานด้านปฏิบัติการในธนาคารนั่นเองค่ะ
- ห้างสรรพสินค้า
ปัจจุบันมีการซื้อขายออนไลน์แบบครบขั้นตอนเกิดขึ้นด้วยความช่วยเหลือจากเทคโนโลยีทางการเงิน การซื้อขายสินค้าที่ต้องเดินทางออกไปเพื่อซื้อสินค้าจึงมีความจำเป็นลดลง ห้างสรรพสินค้าจึงเป็นส่วนหนึ่งที่อาจได้รับผลกระทบ แต่พฤติกรรมของผู้บริโภคที่ชอบซื้อของที่ได้สัมผัสด้วยมือ มองเห็นด้วยตา รวมถึงต้องการที่นั่งเล่น พบเจอกับเพื่อนก็ยังมีอยู่เช่นกันค่ะ
6 เทคโนโลยีที่น่าจับตามองในโลก Fintech
ในปัจจุบัน เทคโนโลยีที่ขอรับคำปรึกษาและร่วมทดสอบ มี 6 เทคโนโลยีที่น่าจับตามอง ที่จะเข้ามามีบทบาทสำคัญในโลกการเงิน คือ (1) QR Payment (2) Blockchains and Distributed Ledgers (3) Biometrics (4) Big Data / Data Analytics (5) Aritificial Intelligence (AI) และ (6) Open APIs
ฟินเทค เกี่ยวอะไรกันกับ Startup?
Startup คือบริษัทที่ก่อตั้งเพื่อค้นหาโมเดลการทำธุรกิจแบบใหม่ ซึ่งสามารถทำซ้ำได้และขยายตัวเพื่อรองรับการเจริญเติบโตได้ โดยมีความคาดหวังที่จะมีรายได้เติบโตอย่างรวดเร็วในอนาคต ส่วนใหญ่แล้วสินค้าหรือบริการของ Startup จะทำให้ผู้บริโภคได้ประโยชน์มากขึ้นและเจ้าของธุรกิจเดิมเสียประโยชน์ ตัวอย่างเช่น Uber ทำให้ผู้โดยสารทั่วโลกเดินทางได้สะดวกขึ้น ส่งผลให้ผู้ให้บริการรถ Taxi อาจมีลูกค้าลดลง
Fintech คืออย่างที่เราได้บอกไปข้างต้นว่า เป็นการใช้เทคโนโลยีเพื่อช่วยให้ตลาดการเงินหรือบริการที่เกี่ยวกับเรื่องการเงินมีประสิทธิภาพมากขึ้น
สรุป คือเป็นการทำงานร่วมกันของ Fintech กับ Startup เมื่อเราเอา 2 คำนี้มารวมกัน ก็จะได้ Fintech Startup ซึ่งหมายถึง Startup ที่ค้นหาโมเดลการทำธุรกิจด้านการเงินโดยเน้นการใช้ IT เป็นตัวหลักในการขับเคลื่อน และมีความน่าสนใจ เป็นการสร้างสิ่งใหม่ ๆ ที่ไม่เคยมีมาก่อนให้เกิดขึ้น หลายต่อหลายบริการไม่เคยมีใครคิดว่าจะมีนั่นเอง
ตัวอย่างเช่น KickStarter ที่ช่วยให้ผู้ที่มีไอเดียในการสร้างสินค้าใหม่ ๆ ระดมทุนผ่านการขายสินค้าล่วงหน้าให้กับผู้บริโภค หากได้เงินทุนถึงระดับที่ต้องการสินค้านั้นจะถูกผลิตขึ้นจริงและส่งให้กับผู้ที่สั่งไว้
ทำไม Fintech Startup ในไทยยังไม่มี Unicorn (Unicorn หมายถึง บริษัทสตาร์ทอัพดาวเด่นที่ประสบความสำเร็จน่าจับตามอง)
1. ขาดบุคลากรด้าน Tech และ Software Engineer เก่ง ๆ ในไทยบุคลากรด้านนี้มีรายได้น้อยเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน
2. ขาดการสนับสนุนจากภาครัฐ มีบางหน่วยงานจากภาครัฐให้การสนับสนุนบ้าง แต่ภาพรวมยังกระจัดกระจาย
3. นักลงทุนกับบริษัทที่เก่งเรื่อง Tech ยังไม่ได้จับมือกัน
ตัวอย่างของ Fintech ของประเทศไทย
สำหรับประเทศไทยในช่วงสองสามปีที่ผ่านมา Fintech เข้ามามีบทบาทเป็นอย่างมาก นอกจากนี้ สถาบันการเงินในไทยก็มีความตื่นตัวในการนำ Fintech มาปรับปรุงวิธีการดำเนินงานและรูปแบบธุรกิจของตัวเอง เร่งเปลี่ยนแปลงและพัฒนาความสามารถ เพื่อให้แข่งขันในยุคดิจิทัลได้ ซึ่งเป็นการเพิ่มช่องทางในการเข้าถึงและขยายกลุ่มลูกค้า เพิ่มส่วนแบ่งทางการตลาด รวมทั้งทำให้ประชาชนที่ยังเข้าไม่ถึงบริการทางการเงินสามารถเข้าถึงได้ดียิ่งขึ้นด้วย
ภาพรวม FinTech ในไทย
ข้อมูลจากกระทรวงอุตสาหกรรมพบว่าในปี 2560 มี Startup ในไทยประมาณ 8,000 ราย เป็นจำนวนเพิ่มขึ้นจากเพียง 200 รายในปี 2558 โดยมี startup ที่มีศักยภาพพร้อมดำเนินธุรกิจได้จริงประมาณ 1,500 ราย และมี FinTech Startup มากเป็นอันดับต้น ๆ ให้บริการใน 4 กลุ่มธุรกิจหลัก
Fintechในไทย กับ 4 กลุ่มธุรกิจหลัก
Business Tools/ Comparison/ Marketplace | แพลตฟอร์มที่นำข้อมูลมารวมเอาไว้ให้ผู้บริโภคสามารถเปรียบเทียบและวิเคราะห์ข้อดีข้อเสียของบริการต่าง ๆ ได้ง่ายขึ้น เช่น แอปพลิเคชัน ที่เปรียบเทียบแพคเกจ Refinance ของแทบทุกธนาคาร ทำให้ผู้ใช้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่มีต้นทุนต่ำลงด้วยความรวดเร็ว หรือแพลตฟอร์มที่ให้ผู้ใช้สามารถนำพ้อยท์เครดิตการ์ดจากหลายแห่งมารวมกันและแลกเป็นส่วนลดในการซื้อสินค้าที่ร่วมรายการ |
Retail Investments and Personal Finance | ผู้ให้บริการในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับตลาดทุนก็มีแนวโน้มที่จะลดจำนวนพนักงานลง ทำให้ต้องมีการนำเทคโนโลยีเข้ามาเป็นเครื่องมือช่วย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นรูปแบบ Robo-advisor ที่พัฒนาจาก AI วิเคราะห์ข้อมูล Big Data ทั้งทางด้านพื้นฐานและข้อมูลด้านเทคนิค ซึ่งมีการคาดการณ์ว่าทรัพย์สินภายใต้การจัดการของ Robo-advisor ทั่วโลกจะเพิ่มขึ้นเป็น 16 ล้านล้านดอลลาร์ ภายในปี 2568 |
Lending & Credit | การให้สินเชื่อรูปแบบ P2P Lending บนออนไลน์กำลังได้รับความนิยมอย่างมาก โดยมีการคาดการณ์ว่าภายในปี 2568 มูลค่าตลาด P2P ทั่วโลกจะสูงถึง 35.9 ล้านล้านบาท การเติบโตนี้เป็นผลของปริมาณการใช้สมาร์ทโฟนที่เพิ่มมากขึ้น รวมถึงการนำข้อมูล Big Data และเทคโนโลยี AI มาช่วยวิเคราะห์และจัดระเบียบข้อมูล เพื่อประกอบการตัดสินใจการให้สินเชื่อสำหรับบุคคลรายย่อยรวมไปถึง SME |
Payment and Blockchain | Payment ถือเป็นประเภทธุรกิจที่มีการแข่งขันสูงมากในประเทศไทย เมื่อมีผู้เล่นหลากหลายจากทั้งบริษัทการเงินและบริษัทโทรคมนาคมรายใหญ่ที่มีเทคโนโลยีและฐานลูกค้าบนเครือข่ายเข้ามาแข่งขันเป็นจำนวนมาก พร้อมกับความพยายามผลักดันให้ประเทศเข้าสู่สังคมไร้เงินสด มีผู้ให้บริการหลายรายที่ออก e-Wallet สำหรับชำระเงินผ่านสมาร์ทโฟน และอาศัยเทคโนโลยี Blockchain เป็นพื้นฐานให้ไม่สามารถโกงหรือปลอมแปลงข้อมูลทางธุรกรรมได้ |
หลายประเทศยกให้ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่น่าจับตามองมากที่สุดประเทศหนึ่งในด้าน Fintech เราจะเห็นได้ว่าในช่วงเวลาไม่กี่ปี Fintech ecosystem ของประเทศไทยมีการพัฒนามากขึ้น และมีธุรกิจ Fintech หน้าใหม่ปรากฏขึ้นเรื่อย ๆ ในทุกปี และบางเจ้ามีส่วนมีมูลค่าการระดมทุนในอุตสาหกรรม Fintech ที่น่าสนใจ ซึ่งแสดงในเราเห็นว่าอุตสาหกรรม Fintech น่าจะเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันภาคเศรษฐกิจได้ไม่ยากเลย
จากรูปจะเห็นได้ว่า Fintech ในไทย ก็ครอบคลุม business ด้านการเงินแทบจะทุกหมวดหมู่ แต่เมื่อธุรกิจเหล่านี้ดำเนินการไปได้ระยะนึง ประกอบกับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่พัฒนาอยู่ตลอดเวลา และกำลังเข้ามามีบทบาทในวงการ Fintech Startup มากขึ้น สองสิ่งนี้จะยิ่งทำให้ทุกอย่างบนโลกก้าวหน้ามากยิ่งขึ้นไปอีก เกิดการเติบโตทางธุรกิจ เศรษฐกิจ นวัตกรรม รวมทั้งวิธีการดำเนินชีวิตที่เปลี่ยนไปนั่นเอง
**คำเตือน การลงทุนย่อมมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลก่อนตัดสินใจลงทุน
เนื้อหาในบทความเป็นเพียงความเห็นส่วนตัวของผู้เขียนบทความ เนื้อหาของบทความนี้ใช้สำหรับประกอบการตัดสินใจก่อนการลงทุนเท่านั้น ผู้อ่านควรศึกษาปัจจัยประกอบจากแหล่งข้อมูลหลายแห่งก่อนการตัดสินใจ และใช้วิจารณญาณส่วนบุคคลในการพิจารณาเลือกโบรกเกอร์ลงทุนที่เหมาะสมแก่ท่าน
ใส่ความเห็น